ห้องอาชีพหลักชาวใต้

        ห้องอาชีพจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพหลักที่ปรากฏในภาคใต้ได้แก่ การทำนา การทำเหมืองแร่ การทำสวนยางพารา และการทำสวนปาล์มน้ำมัน การทำนาในภาคใต้ แม้ว่าลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้จะมีลักษณะเป็นคาบสมุทรประกอบกับแนวเทือกเขาที่ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ จึงมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบแคบๆ แต่ก็เป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ตลอดปี จึงเหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง เอกลักษณ์อันโดดเด่นของการทำนาในภาคใต้คือ การใช้วัวในการไถนา และการเก็บข้าวทีละรวงด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "แกะ"



        การทำเหมืองแร่ เป็นอุตสาหกรรมที่ปรากฏในภาคใต้มาแล้วตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แล้ว โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตกของภาคใต้ในเขตจังหวัดพังงา ภูเก็ตและยังปรากฏหลักฐานการเสด็จประพาสเหมืองแร่ของพระมหากษัตริย์ไทยด้วย แรงงานหลักในสมัยนั้นคือ กรรมกรชาวจีน ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้เช่น เสื้อกันฝน หรือที่เรียกว่า จั่งซุ้ย เป็นต้น



        การทำสวนยางพารา นับจากการนำต้นยางรุ่นแรกเข้ามาปลูกในปักษ์ใต้เป็นครั้งแรกเพื่อบุกเบิกอาชีพการทำสวนยาง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังโดยพระยารัษฎานุ-ประดิษฐมหิศรภักดีแล้ว ก็ทำให้พืชชนิดนี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ มีการขยายพื้นที่เพื่อทำเป็นสวนยางอย่างกว้างขวางซึ่งนอกจากการใช้ประโยชน์จากน้ำยางพาราเพื่อนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ถุงมือ เครื่องใช้ประเภทต่างๆ แล้ว ส่วนของลำต้นยังสามารถนำมาใช้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ด้วย



        การทำสวนปาล์มน้ำมัน ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง นายเจียร วานิช เป็นผู้ริเริ่มให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยขึ้นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๐๙ โดยการนำพันธุ์ปาล์มจากประเทศมาเลเซียมาปลูกเพื่อการพาณิชย์ ที่อำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมัน และได้ตั้งบริษัท ไทยอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน จำกัด ขึ้นเพื่อรองรับปาล์มน้ำมันที่มีการปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจดังกล่าวปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนชื้น อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงเจริญเติบโตได้ดีในภาคใต้ของประเทศ พื้นที่ที่ปลูกมากที่สุด คือจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูลและตรัง ทั้งนี้เนื่องจากผลตอบแทนการปลูกปาล์มน้ำมันดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นจึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ในการจัดแสดงภายในห้องอาชีพหลักภาคใต้นั้น



       นอกจากจะเป็นการจัดแสดงวัตถุของจริงแล้ว ยังได้มีการจัดแสดงในส่วนของการจำลองบรรยากาศของสวนยางพารา การกรีดยาง แบบจำลองของเรือขุดแร่ประกอบกับอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในเหมืองแร่ทั้งเหมืองประเภทฉีดและประเภทขุด รวมทั้งยังมีการจำลองบรรยากาศภายในเหมืองแร่จัดแสดงประกอบอยู่ด้วยรวมทั้งตัวอย่างของหิน-แร่ที่เป็นทรัพยากรที่ปรากฏในภาคใต้ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงเครื่องส่งสัญญาณซึ่งในในหมู่บ้านในชนบทไม่ว่าจะเป็นเหลาะ หรือดึงซึ่งใช้ผูกกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น