ห้องวิถีชีวิตชาวใต้ อาคารหลังคาจั่ว

โชคชะตาราศี


        โชคชะตาราศี เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อที่เกี่ยวกับการแพทย์ อันหมายถึง การทำนายหรือคาดการณ์เกี่ยวกับบุคคล สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงเหตุการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การพยากรณ์เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นข้อสังเกตที่คนสมัยก่อนรวบรวมไว้คล้าย ๆ กับการเก็บข้อมูลทางสถิติแล้วนำมาใช้ในการพยากรณ์ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป โชคชะตาราศีจึงเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับการพยากรณ์ของบุคคลตามวัน เดือน ปีเกิด และรูปลักษณ์ร่างกายที่จะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้า ความเสื่อมถอย ความเป็นมงคล อัปมงคล ในความเป็นไปของชีวิตบุคคลนั้น ๆการพยากรณ์ ผู้พยากรณ์มักสังเกตจากลักษณะร่างกาย วัน เดือน ปีเกิด การอัญเชิญภูตผี เทวดามาเข้าทรง การเสี่ยงตาย เช่น การแทงศาสตรา การทอดเบี้ย เซียมซี การดูนิมิตจากตำรา การเข้าฌาน การดูฤกษ์ยาม การทำนายจากลางสังหรณ์ เป็นต้น ซึ่งจัดแบ่งการพยากรณ์ออกได้ ๔ หมวดดังนี้

๑. หมวดนรลักษณ์ศาสตร์ หมายถึง  การพยากรณ์โดยสังเกตจากลักษณะร่างกาย เช่น หน้า รูปร่าง ลายมือ อิริยาบทต่าง ๆ เป็นต้น

๒. หมวดหัตถศาสตร์ หมายถึง  การทำนายลักษณะชีวิต จิตใจ ความเป็นมาต่าง ๆทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยอาศัยการสังเกตจากเส้น ที่ปรากฎเป็นลายนิ้วมือ ซึ่งจะดูลักษณะฝ่ามือ นิ้วมือ เล็บ เป็นบนฝ่ามือ และเส้นสำคัญ ๓ เส้น คือ เส้นชีวิต เส้นจิตใจ  และเส้นสมอง

๓. หมวดไสยศาสตร์ หมายถึง  การทำนายหรือการพยากรณ์ที่มีการอัญเชิญภูตผี เทวดามาเข้าทรงในร่าง แล้วให้ช่วยทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการเข้าฌาน การเสี่ยงตาย โดยใช้เซียมซี ตำราดูนิมิต แทงศาสตรา ทอดเบี้ย เพราะเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะบอกชะตาชีวิตของคนในช่วงนั้น การทำนายทางไสยศาสตร์ยังหมายรวมถึงการทำนายเกี่ยวกับโชคลาง ได้แก่ การทำนายฝัน และลางสังหรณ์อื่น ๆ ด้วย

๔. หมวดโหราศาสตร์ หมายถึง  การทำนายโดยมีการคำนวณตัวเลขเกี่ยวกับ วัน เดือน ปี แล้วผูกดวง เพื่อทำนายความเชื่อทางด้าน โหราศาสตร์ยังเกี่ยวกับการดูฤกษ์ยาม วันดี วันร้ายด้วย ความเชื่อเกี่ยวกับการดูโชคชะตาราศีเพื่อ พยากรณ์หรือทำนายทายทัก จึงเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของชาวใต้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การดูโชคชะตาราศีจึงเป็นทั้งปัจจัยส่งเสริมและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา


การนวดแผนโบราณ


        การนวดแผนโบราณ เป็นวิธีการหนึ่งในการบำบัดรักษาและดูแลสุขภาพของคนไทยตาม การแพทย์แผนไทย ซึ่งมีทั้งการใช้ยาสมุนไพร การอบ การประคบ และการนวด ที่เรียกกันทั่วไปว่า “การนวดแผนโบราณ” การนวดแผนโบราณ มาจากหลักการของการแพทย์แผนไทยที่เชื่อว่าความเจ็บป่วย เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากสัจธรรมในชีวิตมนุษย์ที่มีการเกิด แก่เจ็บ ตาย รวมทั้งอิทธิพลของพฤติกรรมของมนุษย์เอง การบำบัดรักษาจึงมุ่งเน้นที่การแก้สมดุลของธาตุทั้งสี่ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การอบ การประคบ การนวด รวมทั้งพิธีกรรมอื่น ๆ การบำบัดรักษาความเจ็บปวดด้วยวิธีการนวดแผนโบราณ ก็เพราะเชื่อว่าเส้นต่าง ๆ ใการนวดแผนโบราณ เป็นวิธีการหนึ่งในการบำบัดรักษาและดูแลสุขภาพของคนไทยตามการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีทั้งการใช้ยาสมุนไพร การอบ การประคบ และการนวด ที่เรียกกันทั่วไปว่า “การนวดแผนโบราณ”

        การนวดแผนโบราณ มาจากหลักการของการแพทย์แผนไทยที่เชื่อว่าความเจ็บป่วย เกิดจากความไม่สมดุลของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากสัจธรรมในชีวิตมนุษย์ที่มีการเกิด แก่เจ็บ ตาย รวมทั้งอิทธิพลของพฤติกรรมของมนุษย์เอง การบำบัดรักษาจึงมุ่งเน้นที่การแก้สมดุลของธาตุทั้งสี่ เช่น การใช้ยาสมุนไพร การอบ การประคบ การนวด รวมทั้งพิธีกรรมอื่น ๆ

         การบำบัดรักษาความเจ็บปวดด้วยวิธีการนวดแผนโบราณ ก็เพราะเชื่อว่าเส้นต่าง ๆ ในร่างกายเกิดวิปริตติดกันขึ้นมา หรือเกิดจากการกระทำของภูตผีปีศาจ การนวดแผนโบราณจึงถือว่าเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งหรือเป็นองค์ความรู้ที่มีการเรียน การสอน การสอบ และมีตำราเป็นแบบเรียนสืบทอดกันมาตัวอย่างวิธีการนวดแผนโบราณเพื่อบำบัดรักษาความเจ็บป่วย ตอนหนึ่งว่าสิทธิการิยะ ที่นีจะกล่าวแผนนวด แก้สรรพโรคทั้งปวง แก้ปวดหัวปะสังแล  สันนิบาตนวดแนวขนงคิ้วทั้งสองข้างแล ชิวหาสดมภ์และสะอึก นวดซอกคอข้างหน้าแล แก้ราก นวดอกแล แก้ปัตคาด นวดหัวไหล่ต้นแขนแล แก้เมื่อยตัวแลไข้สั่นนิบาตปากเบี้ยว นวดตาศอข้างขวาแล แก้มวนท้องและลมอัสวาตอัสดมภ์ นวดท้องริมสีข้างต่อสะดือแล แก้นอนมิหลับ นวดหน้าแข้งซ้ายแล แก้ชิวหานวดเส้นเท้าท้องเท้า ตามตาตุ่มขึ้นไปริมแป้งถึงห้องเข่าซ้ายแล


ประเพณีออกปากกินวาน


        ออกปากกินวาน เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวบ้านภาคใต้ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเช่นเดียวกับประเพณี “ลงแขก” ของชาวภาคกลาง ออกปากกินวาน หมายถึง การไหว้วานให้เพื่อนบ้านมาช่วยกันลงแรงทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้งานหนักหรือเร่งด่วนสำเร็จลุล่วง โดยที่ผู้ไหว้วานไปบอกกล่าวด้วยวาจาจึงเรียกการไหว้วานลักษณะนี้ว่า “ออกปาก” และถือเป็นประเพณีที่เจ้าภาพจะต้องเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมลงแรงผู้ไปร่วมจึงมักใช้คำว่า “ไปกินวาน”

       ประเพณีออกปากกินวาน ผู้ที่ไปร่วมแรงแต่ละคนจะจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ไปเองเช่น “ไถนาวาน” ก็จะนำทั้งไถและวัวหรือควายไปด้วย “เก็บข้าววาน” ก็จะนำเกาะสำหรับเก็บข้าวไปเอง “หาบข้าววาน” ก็จะต้องนำแสก (สาแหรก) ของตนเองไปด้วย เป็นต้น และเจ้าภาพต้องแจ้งกำหนดวันทำงานให้เพื่อนบ้านทราบล่วงหน้า ส่วนระยะเวลาเริ่มต้นทำงานถือว่าเป็นที่รู้กันเองว่าวานทำงานอะไร ควรเริ่มต้นเวลาใด เช่น ไถนาวานก็ต้องเริ่มแต่เช้าตรู่ วานซ้อมข้าวสารก็ต้องเริ่มตอนหัวค่ำ เป็นต้น

        อาหารที่เจ้าภาพจัดมาเลี้ยงผู้มากินวาน ก็นิยมทำกันเป็นประเพณี ถ้างานนั้นเป็นงานที่ต้องทำตลอดวันจะต้องเลี้ยงอาหารหนักทั้งคาวและหวาน แต่ถ้างานนั้นมีระยะสั้นหากเป็นตอนกลางวันและไม่ตรงกับมื้อเที่ยงนิยมเลี้ยง “เหนียวหละวะ” คือ ข้าวเหนียวที่ราดด้วยน้ำยา (ปรุงด้วยน้ำกะทิ น้ำตาลผสมด้วยไข่และสาคู ให้หวานและมันจัด) ขนมทั้งสองอย่างเจ้าภาพสามารถ


การเกิด: วัฒนธรรมไทยพุทธ


        ประเพณีเกี่ยวกับการเกิดของชาวปักษ์ใต้ เป็นประเพณีที่มีความสำคัญซึ่งมีความเชื่อและข้อปฏิบัติหลายอย่างที่ได้ยึดถือสืบทอดกันมาช้านาน เช่น ชาวปักษ์ใต้เชื่อว่ามารดาตั้งครรภ์ได้ โดยการจุติของวิญญาณ ซึ่งจะมีลางบอกเหตุให้รู้ เช่น ดาวตก หรือ ความฝัน และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็มีข้อห้ามและข้อปฏิบัติหลายประการ เช่น ห้ามนั่งคาบันไดเรือน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดยาก ควรถือศีลห้าและกินกล้วยน้ำว้า  เป็นต้น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ท้องแรกจะต้องไปฝากครรภ์กับหมอตำแยเมื่อครบ ๗ เดือน ส่วนท้องต่อไปฝากเมื่อครบ ๙ เดือน หลังจากฝากครรภ์แล้ว หมอตำแยจะตรวจครรภ์ “คัดท้อง” ก่อนคลอด ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้เด็กอยู่ในท่าปกติ

        การคลอดและอยู่ไฟ ขณะที่แม่กำลังจะคลอด สามีจะเอาหนามมาสุมไว้ตรงที่แม่นอนคลอดเพื่อกัน “ผีกระ” ส่วนหมอตำแยจะทำพิธีราด หรือตั้งราด โดยเชิญครูหมอตายายของผู้ที่จะคลอดของหมอตำแย และของสามีมาช่วยอำนวยให้ “ลูกตกรกตาม” คือเมื่อคลอดลูกแล้ว ให้รกตามออกมาทันที ไม่ตกค้างอยู่ในท้องหรือตกเลือด หลังจากคลอดเสร็จแล้วหมอตำแยจะนวดให้แม่โดยวิธีเหยียบหรือ “เหยียบสุม” เพื่อให้เอ็นของแม่เข้าที่ แล้วหมอจะอาบน้ำอุ่นทำความสะอาดให้แม่ต่อมาแม่จะต้องกิน “ข้าวเรียน” คือข้าวเย็นก้นหม้อตำผสมกับพริกไทยและเกลือ  แล้วขึ้นแคร่อยู่ไฟเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นแข็งแรง ใช้ก้อนเส้า ประคบท้องให้มดลูกแห้งและเข้าอู่ ถ้าเป็นท้องแรกแม่จะอยู่ไฟ ๙ วัน ส่วนท้องต่อมาอยู่ไฟ ๕-๗ วัน ระยะที่อยู่ไฟนี้หมอตำแยจะมานวดให้แม่ในตอนเช้าและเย็น เพื่อจับเส้นให้หายปวดเมื้อย เลือดลมเดินปกติและน้ำนมไหลดี เมื่ออยู่ไฟครบกำหนดแม่จะ “ออกไฟ” คือเลิกอยู่ไฟในวันออกไฟนี้หมอตำแยจะทำพิธี “ปัดราด” คือวิธีที่จะนำเครื่องบูชาตั้งราดออกไป โดยบอกกล่าวให้ครูของหมอตำแยและของพ่อแม่เด็กทราบด้วย

        การบริบาลทารก เมื่อทารกคลอดแล้วหมอตำแยจะรีดท้องแม่ให้รกออกตามมาให้หมด จากนั้นจะอุ้มเด็กให้คว่ำหน้า แล้วใช้มือล้วงคว้านเอาน้ำคร่ำในปากเด็กออก เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวก เด็กจะร้องออกมาจากนั้นหมอจะตัดสายสะดือให้เด็กด้วยไม้ไผ่บาง ๆ โดยผูกสายสะดือด้วยด้ายดิบเป็นสองหรือสามเปลาะเอาสายสะดือเปลาะที่สองพับจากตัวเด็กวางขนขมิ้นแล้วตัด จากนั้นก็อาบน้ำให้เด็กเสร็จแล้วห่อด้วยผ้านุ่มและสะอาด นำเด็กไปนอนบนที่นอน ซึ่งจัดวางไว้ในกระด้งแล้วเขย่าและร่อนเบา ๆ แสดงว่าไม่ใครรักเด็กคนนั้น ผีก็จะไม่สนใจส่วนรกก็จะนำไปฝัง โดยใส่เกลือ และพริกไทยดำคลุกกับรกแล้วใส่ลงในหม้อดิน หรือกระสอบนั่งปิดด้วยผ้าขาว นำไปฝังใต้ต้นไม้ เช่น ถ้าฝังใต้ต้นส้ม เชื่อว่าเด็กจะฉลาดเฉียบแหลมเหมือนหนามส้ม

 เมื่อเด็กนอนในกระด้งครบ ๓ วัน หมอจะทำพิธีเปิดปากเด็ก โดยใช้หนามหรือเข็มจำนวน ๓ เล่ม จิ้มน้ำตาลแว่น หรือขนมหวานแหย่ในปากเด็กให้เด็กดูด ทั้งนี้เพราะต้องการให้เด็กเป็นคนพูดเพราะอ่อนหวาน ขณะที่ทำพิธี หมอจะว่าคาถาให้ปากเป็นศรีมีธรรมะ และระวังรักษาวาจา หลังจากนี้หมอก็จะทำพิธีขึ้นเปล หรือนำเด็กลงเปล และทำขวัญเด็กต่อไป เมื่ออายุประมาณ ๑-๒ ปี เด็กเริ่มหัดเดิน ซึ่งพ่อแม่จะสร้างกระบอกเวียนให้เด็กเวียนจนเดินได้ชำนาญ การสร้างกระบอกเวียนถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น


การเล่นของเด็กภาคใต้


       การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน สามารถเล่นได้ทุกโอกาสโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่ และไม่ว่าจะมีวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นของเล่นหรือไม่ก็ตาม การเล่นของเด็กภาคใต้แต่ละกลุ่มจะมีลักษณะเด่นตามสภาพภูมิศาสตร์และสังคม วัฒนธรรม เช่น ในชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองเด็กก็จะมีการเล่นที่เกี่ยวข้องกับน้ำ การหาปลา  และภัยจากจรเข้ ชุมชนชาวนาเด็กจะเล่นเกี่ยวกับข้าวหรือทุ่งนา เช่น เล่นขี่ซังข้าว ชุมชนที่ทำสวนยางมีการเล่นลูกยาง เศษยาง และเปลือกลูกยาง ชุมชนที่ทำสวนมะพร้าวก็นิยมเล่นโดยใช้กะลามะพร้าว เช่น กุบกับ ทอยราง โรงสีพรก ฯลฯ ซึ่งการเล่นของเด็กดังกล่าวก็อาศัยเลียนแบบการดำรงชีพ และขนบธรรมเนียมของสังคม ซึ่งผู้ใหญ่ปฏิบัติกันมาอีกต่อหนึ่ง

        การเล่นของเด็กภาคใต้ จำแนกออกเป็น ๑๘ ประการ ได้แก่ คัดออก-เสี่ยงทาย, ไล่-จับ, ทาย, โยนรับ, กระโดด, ล้อ-กลิ้ง, ขว้าง-ป่า, ซ่อนหา, เดิน-วิ่ง, เล่นยาง, เล่นเลียนแบบ, เล่นสัตว์, ร้องเพลง-คำล้อ, ขี่-ไกว, เตะ-ถีบ, ดิน-หมาก, เล่นน้ำและประเภทอื่น ๆ การเล่นของเด็กภาคใต้ที่เด่น ๆ ซึ่งจัดแสดงในครั้งนี้ ได้แก่ การเล่นว่าว การเล่นหมากขุม และการเล่นปั้นวัวปืนควาย

คุณค่าการเล่นของเด็ก นอกจากจะทำให้เด็กได้รับความเพลิดเพลิน มีอารมณ์เบิกบาน แจ่มใสแล้ว ยังมีคุณค่าในการเสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคมช่วยพัฒนาทางด้านภาษา ตลอดจนสะท้อนความเป็นไปทางสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย


ประเพณีสระหัว


       ประเพณีสระหัว เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวใต้ นิยมจัดขึ้นในวันว่าง หรือวันสงกรานต์ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน ของทุกปี ประเพณีสระหัวในวันว่างของชาวใต้การปฏิบัตินิยมกระทำกับพระ ภิกษุอาวุโสหรือผู้สูงอายุที่ประชาชนยกย่องนับถือ ขั้นตอนการปฏิบัติเริ่มโดยประชาชนจะร่วมมือกันสร้าง “เบญจา” หรือชาวบ้านเรียกว่า “บินจา” หรืออาจจะใช้เบญจาสำเร็จรูปที่สร้างไว้แล้วก็ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงมณฑป มีลวดลายแกะสลักสวยงาม ประกอบด้วยฉัตรและพุ่มบายศรี จากเบญจาต่อท่อน้ำเป็นตัวพญานาคเล็กน้อย และเจาะรูไว้ให้น้ำไหลไปสู่เบญจา 

       การสระหัวหรือรดน้ำดำหัวประชาชนจะนิมนต์พระภิกษุผู้อาวุโส ซึ่งบางรูปจะถือวัตรปฏิบัติโดยการอาบน้ำปีละ ๑ ครั้ง ขึ้นนั่งบนเบญจา ประชาชนผู้ศรัทธาจะนำน้ำสะอาดผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอม โรยด้วยดอกไม้ เช่น ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกมะลิ เป็นต้น ไปใส่ในลำเรือ แล้วเปิดน้ำให้ไหลไปตามท่อลำตัวพญานาคและไหลออกทางปากพญานาค คล้ายพญานาคพ่นน้ำรดพระภิกษุจนเปียกทั้งตัว เรียกว่า “สระหัว” เมื่อรดน้ำดำหัวหรือสระหัวพระภิกษุเสร็จแล้ว หลังจากนั้นมีการรดน้ำสระหัวผู้สูงอายุที่เป็นที่เคารพนับถือของลูกหลาน หรือประชาชนในหมู่บ้านซึ่งบุตรหลาน และประชาชนจะปฏิบัติ เช่นเดียวกับรดน้ำพระภิกษุ เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วผู้สูงอายุหรือผู้อาวุโสจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดใหม่ที่ลูกหลานได้เตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นผู้อาวุโสจะให้ศีลให้พรแก่ผู้ร่วมงาน จึงถือได้ว่าประเพณีนี้เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณของชาวใต้


ประเพณีการบวช


        ชาวพุทธในภาคใต้ มีความเชื่อว่าการบวชในพระพุทธศาสนาเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งแก่ผู้บวช บิดา-มารดา และญาติมิตร ครอบครัวใดมีบุตรชาย มักตั้งใจไว้ว่าจะได้มีโอกาส “เกาะชายผ้าเหลืองเข้าโบสถ์” การบวชนี้ยังได้รับการยกย่องจากสังคมในท้องถิ่นนั้นด้วยว่าพ้นภาวะจากการเป็นคนดิบ
การบวชหรือการบรรพชา อุปสมบทในพระพุทธศาสนานั้น บุตรชายของครอบครัวใดมีศรัทธาและพร้อมที่จะบวช จะต้องเข้ามาอยู่ในวัดที่จะบวชก่อนประมาณ ๑๕ วัน เพื่อจะได้เกิดความเคยชินและศึกษาเล่าเรียนรู้กิจปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อถึงเวลาการบวชจะมีพิธีการโกนผม การตระเตรียมนาค การแห่นาค และการขานนาค จนเสร็จพิธีการบรรพชา อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ซึ่งเรียกกันว่า ”พระนวกะ” ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้


พิธีการโกนผม :  โดยพระภิกษุเป็นประธานมีบิดา มารดา ช่วยในการโกน-ปลงผม คิ้ว ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และผู้ชำนาญโกนจนเสร็จเรียบร้อย

การตระเตรียมนาค :  เมื่อผู้บวชแต่งชุดเจ้านาคแล้ว อาจมีการทำพิธีขออโหสิกรรมต่อญาติผู้ใหญ่  ด้วยดอกไม้-ธูปเทียน การทำขวัญนาค เพื่อให้ตระหนักถึงบุญคุณของบิดา-มารดา เป็นต้น

การแห่นาค :  เจ้านาคจะเดินทางจากที่พักไปยังที่วัด โดยใช้ยานพาหนะตามสะดวก เช่น ม้าทรงหรือขี่คอเพื่อนฝูงญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น หน้าขบวนนำด้วยกลองยาว หรือมโนราห์ หรือหนังตะลุงร่ายรำ และขับบทกลอนหรือการละเล่นพื้นบ้านอื่น ๆ อย่างสนุกสนาน ขบวนแห่นาคจะเดินวนเวียนโบสถ์ ๓ รอบ แล้วจึงข้าไปทำพิธีบวชภายในอุโบสถ

การขานนาค :  เมื่อเจ้านาคเปล่งวาจาขอบวชต่อหน้าพระอุปัชฌาป์แล้วดำเนินตามพุทธบัญญัติและพระคู่สวด ๒ รูป ถาม-ตอบ อันตราณิกธรรม อันเรียกว่า “ขานนาค” และเสร็จสมบูรณ์การบวชด้วย การสวดญัตติจตุตถ-กรรมรุ่งเช้าพระภิกษุใหม่ หรือพระนวกะจะเริ่มวัตรปฏิบัติออกบิณฑบาตตามบ้านเรือนประชาชน