ผ้า เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของมนุษย์ซึ่งได้สะสม สืบทอดความรู้กันมาช้านานจนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในวิถีชีวิตเพราะนอกจากเป็นเครื่องนุ่งห่มแล้วผ้ายังถูกใช้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน ดังนั้นผ้าจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ
ในภาคใต้ของประเทศไทย มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มชนซึ่งอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณนี้มีพัฒนาการด้านการทอผ้ามานานกว่า ๓,๕๐๐-๔,๕๐๐ ปี การทอผ้าในดินแดนภาคใต้ของไทยช่วง ๑,๕๐๐-๑,๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการทางด้านการทอผ้าก้าวหน้าไปมาก เช่น มีการใช้สีย้อมเส้นใยที่จะใช้ทอผ้าสีต่างๆ มีกระบวนการเตรียมเส้นยืน (warp) และเส้นพุ่ง (weft) มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือ คือ หูก หรือกี่ สำหรับทอผ้า มีเทคนิคในการเก็บตะกอลายผ้า ทำให้ผ้าที่ทอมีลวดลายดอก ยกดอกเด่นชัด นอกจากนี้ยังรู้จักใช้เส้นเงิน เส้นทอง ทอสอดแทรกตกแต่งลายดอกทำให้ผ้ามีความสวยงามยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังจัดแสดงผ้าทอในภาคใต้ เช่น ผ้ายกเมืองนคร ผ้าทอเกาะยอ ผ้าทอพุมเรียง ลักษณะเป็นผ้ายกแบบหลายตะกอ ลักษณะลวดลายมีทั้งเป็นลายดอกเล็ก ๆ พรมไปทั้งผืน หรือยกลายเน้นเชิง ผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอพื้นบ้านที่เรียกชื่อตามแหล่งทอผ้าคือตำบลนาหมื่นศรี มีเอกลักษณ์เฉพาะคือการใช้สีของด้ายยืนสีแดง ส่วนด้ายพุ่งใช้สีเหลือง ผ้าทอต่างประเทศ ผ้าจวนตานี ผ้าลีมา ผ้าปะลางิง ผ้าซอแก๊ะ ผ้าโสร่ง เป็นต้น