ห้องประวัติศาสตร์ และชาติพันธุ์

        คาบสมุทรภาคใต้ พบหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มชนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตั้งแต่ ๔๐,๐๐๐-๒,๒๐๐ ปีมาแล้ว) ที่สำคัญได้แก่ ชนชาวน้ำ และชนชาวถ้ำอยู่อาศัยตามถ้ำ เพิงผา รวมถึงบริเวณที่ราบหรือเพิงผาถ้ำตามแนวชายฝั่งทะเล ดำรงชีพด้วยการจับสัตว์ หาของป่า ซึ่งเป็นสังคมแบบสังคมนายพราน พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหินแบบต่างๆ หินทุบเปลือกไม้ สำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการสร้างสรรค์งานศิลปะได้แก่ภาพเขียนสีตามถ้ำ หรือการทำเครื่องดนตรีจากหินที่เรียกว่า ระนาดหิน และเริ่มปรากฏหลักฐานการติดต่อค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนภายนอกตั้งแต่ประมาณ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน หลักฐานที่สำคัญได้แก่ เวียดนาม ซึ่งพบในคาบสมุทรภาคใต้ถึง ๑๔ ใบด้วยกัน




        ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ภาคใต้ (พุทธศตวรรษที่ ๕-๑๒) กลุ่มชนในภาคใต้เริ่มมีพัฒนาการที่สูงขึ้นเป็นลำดับ มีความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรมขณะที่เมืองตามชายฝั่งทะเลมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่าค้าขาย จึงทำให้ชนพื้นเมืองได้รับ วัฒนธรรมจากกลุ่มชนภายนอกมากขึ้นซึ่งเป็นกลุ่มชนสมัยประวัติศาสตร์แล้วโดยเฉพาะอินเดีย ทั้งด้านความเชื่อ ศาสนา การค้า การปกครอง รวมทั้งด้านของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทั้งการหลอมโลหะและแก้ว จนกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญเริ่มปรากฏการใช้ตัวอักษรในการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆนอกจากนี้ กลุ่มชนในสมัยนี้ยังได้รู้จักทอผ้าใช้เองโดยใช้แวดินเผาในการปั่นฝ้าย มีการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือที่ใช้ตุ้มถ่วง รู้จักทำเครื่องประดับที่ทำด้วยวัสดุประเภทต่างๆ



        นอกจากทำจากเปลือกหอยหรือกระดูก หรือการใช้เครื่องมือที่ทำด้วยโลหะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสำริดหรือเหล็ก มีการยอมรับนับถือศาสนาแล้วทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ จึงพบประติมากรรมรูปเคารพทั้ง ๒ ศาสนาซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมีรูปแบบศิลปะแบบอินเดีย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ ชุมชนในภาคใต้มีลักษณะเป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้ระบบสังคมและการเมืองแบบเดียวกัน มีลักษณะเป็นนครรัฐและศูนย์กลางการปกครองโดยรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดียเป็นแม่แบบในการจัดระเบียบสังคม อาจกำหนดเรียกว่า “สมัยศรีวิชัย” อย่างไรก็ดี บทบาทที่สำคัญของชุมชนต่างๆ ในภาคใต้ในช่วงเวลานี้ก็ยังคงเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ ซึ่งพบว่าคาบสมุทรภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางทะเลที่เรียกว่า “เส้นทางสายเครื่องเทศ” ภายในคาบสมุทรเองมีเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญอยู่หลายสายด้วยกัน เช่น ทุ่งตึก-แหลมโพธิ์ เป็นต้น ส่วนศูนย์กลางการปกครองที่สำคัญในช่วงเวลานี้ได้แก่ เมืองไชยา หรือศรีวิชัย เมืองปัตตานี หรือลังกาสุกะ เมืองนครศรีธรรมราช หรือตามพรลิงค์ และเมืองสทิงปุระ-พัทลุง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้


 


        โบราณวัตถุประเภทต่างๆ ที่พบในปัจจุบัน ซึ่งมีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปีนั้น เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณคาบสมุทรภาคใต้มีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองและชนต่างชาติ นำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการเลือกรับปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นเป็นหลัก รวมทั้งภาพของการเป็นเมืองที่มีบทบาทในฐานะเมืองท่าค้าขายที่สำคัญขณะเดียวกันก็ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของชนต่างชาติที่เข้ามาบริเวณภาคใต้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในฐานะพ่อค้า นักบวชผู้เผยแพร่ศาสนา รวมทั้งช่างฝีมือด้านต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในภาคใต้ที่สำคัญจึงอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนได้แก่ อิทธิพลทางศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรับโดยตรงจากอินเดีย และโดยอ้อมจากทางชวา- มลายู จึงมีทั้งการนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และศาสนาอิสลาม ซึ่งการยอมรับนับถือศาสนานั้นจึงมีผลต่อการปฏิบัติตัวของกลุ่มชนพื้นเมืองด้านต่างๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งอิทธิพลทางศาสนานี้ส่วนใหญ่แล้วก็ถูกนำเข้ามาโดยชาวต่างชาตินั่นเอง จึงเป็นอิทธิพลส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ปรากฏทางฝั่งตะวันตกได้แก่ อินเดีย อาหรับ-เปอร์เซีย กรีก-โรมัน (ผ่านมาทางอินเดีย) ส่วนตะวันออกที่ได้สำคัญได้แก่ จีน และชวา-มลายู



 นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมาชาวต่างชาติที่มีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ด้วย ได้แก่ จีน และชาวยุโรป โดยเฉพาะชาวจีนนั้นแม้ว่าจะปรากฏหลักฐานตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษแล้วก็ตามซึ่งพบว่าชาวจีนมีการอพยพเข้ามาบริเวณนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้ามาเป็นกรรมกรจนกระทั่งเป็นเจ้าสัว เช่น ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทเป็นเจ้าเมืองปกครองดูแลบ้านเมืองในคาบสมุทรภาคใต้อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันลูกหลานจีนก็ยังคงมีบทบาทในสังคมไทยอย่างมาก ส่วนชาวยุโรปนั้น แม้จะไม่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพเช่นเดียวกับคนจีนแต่ก็ได้ทิ้งร่องรอยอารยธรรม ความเจริญแบบตะวันตกไว้ให้อย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของรสนิยมในการดำเนินชีวิตที่ค่อนข้างหรูหรา ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเช่นเครื่องมือในการรบ การสร้างบ้านแบบตึก เป็นต้น

        ชนพื้นเมืองและภาคใต้สมัยประวัติศาสตร์ชาติไทยชนพื้นเมืองภาคใต้ที่ยังคงปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันที่สำคัญได้แก่ ชาวเล และซาไก ซึ่งต่างก็มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่ก็มีความคล้ายคลึงกันในภาพรวมได้แก่ การดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ความเชื่อในธรรมชาติ การเคารพในสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นต้น แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีวิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันไป โดยซาไกจะอยู่อาศัยตามภูเขาป่าทึบหรือตามริมผาที่เป็นเนินสูงใกล้ลำธาร ส่วนชาวเลจะอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและตามหมู่เกาะ เรียนรู้จากธรรมชาติในเรื่องการรักษาโรค การควบคุมประชากร การสร้างสรรค์งานศิลปะโดยเฉพาะเครื่องดนตรี มีพิธีกรรมในการปัดเป่าเภทภัย เช่น การลอยเรือสะเดาะเคราะห์ของชาวเล ภายหลังสมัยนครรัฐโบราณ หรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ เป็นต้นมา



 

        ศูนย์กลางการปกครองบริเวณภาคกลางของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองการปกครองในบริเวณภาคใต้เป็นอย่างมาก เช่น การเป็นเมืองประเทศราช การเป็นเมืองลูกหลวง การที่ต้องส่งเครื่องบรรณาการ มีการแต่งตั้งผู้ปกครองลงมาจากเมืองหลวง มีการจัดระบบการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลหมายถึงโครงสร้างทางการปกครอง ได้เปลี่ยนเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางก่อนที่จะมีปกครองเป็นแบบการแบ่ง เป็นเขตจังหวัดดังเช่นปัจจุบัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมืองการปกครองแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมด้านต่างๆ ด้วยเช่น การรับวัฒนธรรมประเพณีจากเมืองหลวง การศึกษาที่มีการจัดระบบแบบตะวันตก รวมทั้งการใช้ตัวอักษรไทย และภาษาไทย งานศิลปกรรมแบบเมืองหลวงที่มาผสมผสานกับศิลปะโดยช่างฝีมือท้องถิ่น เป็นต้น