แบ่งหัวข้อการจัดแสดงออกเป็น ๔ หัวข้อ ได้แก่ ประการแรก การจัดการศึกษาตามประเพณีของไทยภาคใต้ ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งวัดมีบทบาทในฐานะเป็นที่เรียนหนังสือโดยมีพระสงฆ์เป็นเสมือนครูผู้สอน เป็นการฝึกหัดอ่าน เขียน อุปกรณ์ที่ใช้เป็นกระดานนอโม และสมุดไทย
หัวข้อถัดมาเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ (ก่อน พ.ศ.๒๔๔๑) โดยในภาคใต้เริ่มมีการวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ โดยเริ่มจากนครศรีธรรมราช ทั่งด้านสามัญศึกษา อาชีวศึกษา และการฝึกหัดครู ผู้มีบทบาทสำคัญคือ พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รฺตนธโร) มีการก่อตั้งโรงเรียนวัด ซึ่งการศึกษาในช่วงนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการจัดการศึกษาสมัยใหม่ในปัจจุบัน สมัยนี้เริ่มมีแบบเรียน ก ข หนังสือและสมุดแบบฝรั่ง หัวข้อที่สาม เป็นเรื่องของการจัดการศึกษาในภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๑ เนื่องจากในปีนี้เป็นปีที่มีโครงการศึกษาฉบับแรกขึ้นในประเทศไทย พ.ศ.๒๔๔๑ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๖๔ สมัยนี้สืบเนื่องมาจากระยะก่อน เริ่มมีการก่อตั้งโรงเรียนประจำมณฑล
โรงเรียนฝึกหัดครูเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูแห่งแรกในภาคใต้ พ.ศ.๒๔๔๘ และโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑล และการจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาในภาคใต้ โดยพระรัตนธัชมุนีเป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา ได้แก่ โรงเรียนช่างถม ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาในระบบเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้เปิดแผนกช่างไม้ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า จนกระทั่งในพ.ศ.๒๕๐๔ จึงมีการก่อตั้งการอาชีวศึกษาในภาคใต้ในทุกจังหวัด
สุดท้ายคือ การจัดการศึกษาของสังคมไทยมุสลิมในภาคใต้ ก่อนการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื้อหาวิชาที่สอนได้แก่บทบัญญัติในคัมภีร์กุลอาน คำพูดแนวปฏิบัติของศาสดา และคำวินิจฉัยของปราชญ์มุสลิม ซึ่งไม่แย้งกับหลักในพระคัมภีร์ และคำสอนของพระมะหะหมัดและขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของศาสนาอิสลาม